0(0)

ภาษาไทย (พท31001) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักสูตรรายวิชา

คำอธิบายรายวิชา ภาษาไทย  พท31001  จำนวน 5 หน่วยกิต   

สาระความรู้พื้นฐาน  ระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย  

 

มาตรฐานการเรียนรู้ระดับ

การฟัง การดู

  1. สามารถเลือกสื่อในการฟัง และดูอย่างสร้างสรรค์
  2. สามารถฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ
  3. เป็นผู้มีมารยาทในการฟังและดู

การพูด

  1. สามารถพูด ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสม
  2. สามารถแสดงความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ และประเมินค่าการใช้ภาษาพูดจากสื่อต่างๆ
  3. มีมารยาทในการพูด

การอ่าน

  1. สามารถอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จัดลำดับความคิดจากเรื่องที่อ่าน
  2. สามารถศึกษาภาษาถิ่น สำนวน สุภาษิตที่มีอยู่ในวรรณคดี วรรณกรรมปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น
  3. สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าองค์ประกอบของวรรณคดี วรรณกรรมปัจจุบัน วรรณกรรมท้องถิ่น
  4. สามารถค้นคว้าหาความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสารสนเทศ
  5. ปฏิบัติตนเป็นผู้มีมารยาทในการอ่าน และนิสัยรักการอ่าน

การเขียน

  1. รู้และเข้าใจหลักการเขียนประเภทต่างๆ โดยใช้คำในการเขียนได้ตรงความหมาย และถูกต้องตามอักขระวิธีและระดับภาษา
  2. สามารถวิพากษ์วิจารณ์และประเมินงานเขียนของผู้อื่น เพื่อนำมาพัฒนางานเขียน
  3. สามารถแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง
  4. มีมารยาทในการเขียน และนิสัยรักการเขียน

หลักการใช้ภาษา

  1. รู้และเข้าใจธรรมชาติของภาษา
  2. สามารถใช้ภาษาสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น และใช้คำราชาศัพท์ คำสุภาพได้ถูกต้องตามฐานะของบุคคล

วรรณคดี วรรณกรรม

สามารถวิเคราะห์และเห็นคุณค่าวรรณคดี วรรณกรรมปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น โดยใช้หลักการพินิจวรรณคดี

ศึกษาและฝึกทักษะเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

การฟัง การดู

การวิจารณ์ความสมเหตุสมผล การลำดับความและความเป็นไปได้ของเรื่องที่ฟังและดูจากสื่อที่หลากหลาย ตลอดจนมารยาทของการฟังและดู

การพูด

ศิลปะการพูดที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  และมารยาทในการพูด

การอ่าน

การอ่านเพื่อตีความ แปลความ ขยายความ ความหมายของภาษาถิ่น สำนวน สุภาษิต องค์ประกอบของการประเมินค่าวรรณคดี วรรณกรรมปัจจุบัน  และวรรณกรรมท้องถิ่น  ตลอดจนมารยาทในการอ่าน

การเขียน

หลักการเขียนประเภทต่างๆ  และการแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ตลอดจนมารยาทในการเขียน

หลักการใช้ภาษา

ธรรมชาติของภาษา การใช้ถ้อยคำ ประโยค สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำสุภาพ คำราชาศัพท์

วรรณคดีและวรรณกรรม

หลักการพินิจและประเมินคุณค่าเกี่ยวกับวรรณคดี วรรณกรรมปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้

จัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ในชีวิตประจำวันให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับทักษะการฟัง การดู การพูด การอ่าน การเขียน และหลักการใช้ภาษาเป็นรายบุคคลหรือใช้กระบวนการกลุ่ม

การวัดและประเมินผล

การสังเกต การฝึกปฏิบัติ  การทดสอบ ตรวจสอบ ตอบคำถาม และการประเมินชิ้นงานในแต่ละกิจกรรม

https://online.pubhtml5.com/hpzd/cnlb/#p=2

สารบัญรายวิชา

24 วิดีโอ

แบบทดสอบก่อนเรียน

แบบทดสอบก่อนเรียน

บทที่ 1.การฟัง การดู?

เรื่องการฟังและการดู วิชา พท31001 ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1. ความหมายของการฟัง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้อธิบายความหมายของการฟังไว้ว่า การฟัง หมายถึงการตั้งใจสลับคอยรับฟังด้วยหู ได้ยิน ขยายความได้ว่าการฟัง เริ่มจากการได้ยินเสียก่อน ขั้นที่ 2 ติดตามเรื่องราวของสิ่งที่ได้ยินไปด้วยพอถึงขั้นที่ 3 ต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน หรือตีความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ และขั้นสุดท้าย ต้องเกิดความคิดคล้อยตามหรือโต้แย้งสิ่งที่ได้ยินนั้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 2. ประโยชน์ของการฟัง 2.1 ช่วยให้มีความรู้และสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นผู้ทันโลก และทันเหตุการณ์ เพราะฟังมากย่อมรู้มาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นนักปราชญ์หรือผู้เป็นพหูสูต 2.2 ช่วยให้นำสิ่งที่ได้สดับฟังนั้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ตัดสินปัญหาได้ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ 2.3 ช่วยให้เกิดทักษะในการฟัง คือ สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ได้ 2.4 ช่วยให้มีวิจารณญาณในการฟัง คือ สามารถพิจารณาไตร่ตรองได้ว่า สิ่งใดบ้างเป็นข้อเท็จจริง สิ่งใดบ้างผิด และสิ่งใดบ้างถูกต้อง 3. วัตถุประสงค์ของการฟัง การฟังที่ดีผู้ฟังจะต้องตั้งจุดประสงค์ของการฟังไว้ในใจเสียก่อน ซึ่งผู้ฟังมักมีจุดประสงค์ใหญ่ 3 ประการ คือ 3.1 ฟังเพื่อให้เกิดความรู้และความรอบรู้ แยกออกได้ดังนี้ 3.1.1 ฟังเพื่อให้เกิดความรู้ การฟังชนิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน 3.1.2 ฟังเพื่อให้เกิดความรู้ เป็นการฟังที่ช่วยสร้างเสริมเพิ่มพูดความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ฟังข่าว เหตุบ้านการเมือง ฯลฯ การฟังต้องสามารถจับประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยอาศัยหลักการพินิจสารและรู้จักประเมินคุณค่าของสาร 3.2 ฟังเพื่อหาเหตุผลมาโต้แย้งหรือคล้อยตามเป็นการฟังที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังมีวิจารณญาณในการฟังเป็นสำคัญ คือ เมื่อฟังอะไรแล้วต้องเป็นผู้รู้จักคิด รู้จักไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนได้ฟังมานั้นมีเหตุผลสมควรเชื่อถือหรือไม่ อันจะเป็นการฝึกให้เป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่เชื่อสิ่งใดอย่างงมงาย 3.3 ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน และซาบซึ้ง เป็นการฟังด้วยความนิยมชมชอบ ผู้ฟังจะได้รับทั้งความสนุกสนานและความเพลิดเพลิน การฟังอย่างนี้ถือเป็นการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด 4. ลักษณะของการเป็นผู้ฟังที่ดี การฟังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลทั่วไป เราจึงควรทราบลักษณะของผู้ฟังที่ดี ซึ่งมีดังนี้ 4.1 มีสมาธิในการฟัง การมีสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นมากในการฟัง ผู้ฟังต้องตัดความวิตกหรือความกังวลใจต่าง ๆ ออกจากจิตใจให้หมด ฉะนั้นทุกครั้งที่ฟังเรื่องใดก็ตาม ผู้ฟังต้องหมั่นฝึกความมีสมาธิให้แก่ตนเองพยายามพุ่งความสนใจไปในเรื่องที่ตนกำลังฟังนั้น 4.2 ตั้งจุดมุ่งหมายในการฟัง ในการฟังแต่ละครั้งผู้ฟังควรตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่าจะฟังเพื่ออะไร เช่น ฟังเพื่อจับใจความสำคัญ ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นต้น การฟังอย่างไร้จุดหมายย่อมเสียเวลาในการฟัง 4.3 วิเคราะห์เจตนาของผู้พูด คือ ต้องรู้จักวิเคราะห์เจตนาของผู้พูดว่า ผู้พูดมีความประสงค์อย่างไร มีสิ่งใดแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องที่พูดหรือไม่ 4.4 สนใจและจับประเด็นสำคัญเรื่องที่ฟังให้ได้ คือขณะฟังต้องรู้จักใช้สติปัญญาวิเคราะห์ดูว่าผู้พูดกำลังพูดเรื่องอะไร ให้สาระประโยชน์อะไรบ้าง เรื่องที่ฟังนั้นมีประเด็นสำคัญอย่างไร แล้วพยายามสรุปความคิดรวบยอดให้ได้ 4.5 ต้องวางใจเป็นกลางไม่มีอคติใด ๆ ต่อผู้พูด การมีอคติ และการจับผิดผู้พูดย่อมมีผลเสียมากกว่าได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การแต่งกาย การพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในบางคำ ฯลฯ เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดรู้สึกว่าเรื่องที่กำลังฟังนั้นเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ ควรสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้พูดเสมอ การทำใจได้เช่นนี้ จะทำให้บรรยากาศการฟังเป็นไปอย่างราบรื่นและเข้าใจดี 4.6 ฟังด้วยความอดทนและตั้งใจฟัง ต้องอดทนและตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ การฟังอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือฟังเพียงบางตอนย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้สมบูรณ์ 4.7 ฟังอย่างสำรวมให้เกียรติผู้พูด และมีมารยาทอันดีงาม นับเป็นคุณสมบัติของผู้ฟังที่ดี การรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร เช่น การลุกเดินเข้าออก การทำเสียงเอะอะนับเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสม ถือว่าไม่ให้เกียรติ และเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่ง แสดงความคิดเห็นก็ควรทำภายหลัง 4.8 ใช้ศิลปะในการฟัง ผู้ฟังที่ดีไม่ควรฟังอย่างเดียวควรใช้ไหวพริบในบางโอกาส เพื่อช่วยให้ผู้พูดสามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิดของตนไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ผู้ฟังต้องการ โดยการใช้คำถามที่ได้จากการเชื่อถือผู้ฟังต้องการ 4.9 ขณะฟังควรบันทึกสิ่งสำคัญ หากสงสัย ควรซักถาม ให้เหมาะสม 4.10 หลักการฟัง ผู้ฟังบันทึกว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ฟังไปนั้นตรงกับข้อจริง และมีเหตุผลน่าเชื่อถือเพียงใด มีสิ่งใดจะนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ และรู้จักนำความรู้หรือข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้จากการฟังไปใช้ประโยชน์ ตามโอกาสอันสมควร 5. มารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้ฟังที่ดีควรต้องระมัดระวังมารยาท ตั้งแต่เริ่มเข้าฟัง ขณะฟังไปจนกระทั่งเลิกฟัง คือ 5.1 ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เช่น ไม่สวมเสื้อปล่อยชายรุ่มร่าม หรือสวมรองเท้าแตะฟองน้ำเข้าฟัง เป็นต้น 5.2 ผู้ฟังที่ไปถึงก่อน ควรนั่งเก้าอี้ที่เขาจัดไว้แถวหน้า ๆ ผู้ที่มาทีหลังจากนั้นก็ควรนั่งถัดกันลงมาข้างหลังทีละแถวตามลำดับ เพื่อผู้มาช้าจะได้ไม่ต้องหลีกคนหลาย ๆ คนเข้าไปหาที่นั่ง ทำให้วุ่นวายขาดสมาธิในการฟังได้ ถ้าผู้พูดเริ่มพูดไปบ้างแล้ว และไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ก็ควรจะยืนฟังอย่างสงบ และมีระเบียบไม่บังคับผู้ที่นั่งอยู่ก่อน 5.3 ควรไปถึงสถานที่ฟังก่อนผู้พูดเริ่มพูด ถ้าเข้าหลังผู้พูดเริ่มพูดแล้วต้องแสดงความเคารพผู้พูดก่อน และเข้าไปนั่งฟังอย่างสงบ หากจำเป็นต้องออกจากห้องประชุมที่นั่งฟังอยู่ก่อนที่จะพูดจบ ก็ต้องทำความเคารพผู้พูดก่อนด้วย 5.4 ควรฟังด้วยความสนใจ ไม่ควรแสดงสีหน้าท่าทางให้ผู้พูดเห็นว่า ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายเพราะจะทำให้ผู้พูดเสียกำลังใจ ถ้าเกิดไม่อยากฟังจริง ๆ ก็ควรจะเลิกฟังและออกจากห้อง ประชุมไปเลย 5.5 ควรให้เกียรติผู้พูดด้วยลักษณะต่าง ๆ ที่ทำได้ เช่นพูดดี ถูกใจผู้ฟังก็ควรปรบมือ หรือพูดชมเชยเมื่อมีโอกาส ขณะฟังอยู่ควรมองหน้าผู้พูดตลอดเวลาและไม่ควรคุยกัน ด้วยเรื่องส่วนตัวจนเป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่นไม่ควรลุกเดินขวักไขว่ไปมาไม่ควรนั่งหลับสัปหงก ฯลฯ 5.6 ถ้าเกิดข้อสงสัยต้องการซักถาม ควรรักษามารยาทดังนี้ 5.6.1 ควรยกมือขึ้น เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงค่อยถาม 5.6.2 ควรถามอย่างสุภาพเรียบร้อยทั้ง ถ้อยคำและอากัปกิริยา 5.6.3 คำถามควรกะทัดรัด ตรงประเด็น เกี่ยวกับเรื่องที่ฟัง 5.6.4 ถ้าจะคัดค้าน ควรคัดค้านอย่างนิ่มนวล และกล่าวขอโทษก่อน 5.6.5 เมื่อฟังพูดจบแล้ว ควรลุกขึ้น และออกไปมีระเบียบ พยายามทำให้เกิดเสียงน้อยที่สุด 6. เรื่อง การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ 6.1 ความหมายของการจับประเด็น หมายถึง การจับข้อความสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่อง 6.2 ความหมายของการสรุปความ คือ การหยิบยกเอาความคิดหลักหรือประเด็นที่สำคัญของเรื่องมากล่าวย้ำให้เด่นชัด โดยใช้ประโยคสั้นๆแล้วเรียบเรียงให้เป็นระเบียบ 6.3 มารยาทในการฟังและดู 6.3.1 มองสบตาผู้พูด ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูดและไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะที่ฟังหรือดู 6.3.2 รักษาความสงบ ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น ไม่เอาของขบเคี้ยวเข้าไปทำลายสมาธิของผู้อื่น การชมภาพยนตร์ควรปิดโทรศัพท์มือถือจะได้ไม่รบกวนความสุขของผู้อื่น ไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในโรงภาพยนตร์หรือในที่ที่ต้องการความสงบ 6.3.3 แสดงกิริยาอาการที่เหมาะสม วัยรุ่นไม่ควรนั่งเกี้ยวพาราสีกันในที่สาธารณชนที่ต้องการความสงบในการฟังและการดู เพราะนอกจากจะรบกวนสายตาคนอื่นแล้วยังเป็นการแสดงกิริยาที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมของไทยอีกด้วย 6.3.4 ในการดูภาพไม่ควรขีดเขียนหรือฉีกภาพซึ่งแสดงถึงความไม่มีวัฒนธรรมที่ดีงาม 6.4 หลักการฟังและดูเพื่อสรุปความและจับประเด็น การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ เป็นทักษะเบื้องต้นที่ทุกคนจะต้องฝึกฝน เราจะต้องติดตามฟัง ดูเรื่องราวโดยตลอด ดังนั้นจึงต้องมีสมาธิในการฟังและสามารถแยกแยะได้ว่าข้อความใด เป็นใจความสำคัญ และข้อความใดเป็นพลความ ถ้าเราเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอดแล้วเราย่อมจดจำเรื่องราวที่ฟังและสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นฟังได้ด้วย ในการฟังแต่ละครั้ง เราต้องจับประเด็นของเรื่องที่ฟังได้ คือ รู้ว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไร เป็นประเด็นสำคัญ และรู้จักว่าอะไรคือประเด็นรองซึ่งขยายประเด็นสำคัญ การฟังเช่นนี้เป็นการฟังเพื่อจับใจความสำคัญและใจความรองและรายละเอียดของเรื่อง มีวิธีการฟังดังนี้ 6.4.1 ฟังเรื่องราวให้เข้าใจ พยายามจับใจความสำคัญของเรื่องเป็นตอนๆ ว่าเรื่องอะไร ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร 6.4.2 ฟังเรื่องราวที่เป็นใจความสำคัญแล้วหารายละเอียดของเรื่องที่เป็นลักษณะปลีกย่อยของใจความสำคัญ หรือที่เป็นส่วนขยายใจความสำคัญ 6.4.3 สรุปความโดยรวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญอย่างครบถ้วน วิธีการสรุปความจากการฟังนั้น เราจะต้องค้นหาให้พบว่าสารใดเป็นความคิดสำคัญในเรื่องนั้นๆ แล้วสรุปไว้เฉพาะใจความสำคัญ โดยเขียนชื่อเรื่อง ผู้พูด โอกาสที่ฟัง วัน เวลา และสถานที่ที่ได้ฟังหรือดูไว้เป็นหลักฐานเครื่องเตือนความทรงจำต่อไป การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ เป็นการฟังในชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้สาระสำคัญของเรื่องที่ฟัง เช่น ฟังการสนทนา ฟังเรื่องราวข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฟังโทรศัพท์ ฟังประกาศ ฟังการบรรยาย ฟังการอภิปราย ฟังการเล่าเรื่อง เป็นต้น 7. วิธีสรุปความตามลำดับขั้น 7.1 ขั้น อ่าน ฟัง และดู - อ่าน ฟังและดูให้เข้าใจอย่างน้อย 2 เที่ยว เพื่อให้ได้แนวคิดที่สำคัญ 7.2 ขั้นคิด - คิดเป็นคำถามว่าอะไรเป็นจุดสำคัญของเรื่อง - คิดต่อไปว่า จุดสำคัญของเรื่องมีความสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง จดสิ่งนั้นๆไว้เป็นข้อความสั้นๆ - คิดวิธีที่จะเขียนสรุปความให้กะทัดรัดและชัดเจน 7.3 ขั้นเขียน - เขียนร่างข้อความสั้นๆที่จดไว้ - ขัดเกลาและตบแต่งร่างข้อความที่สรุปให้เป็นภาษาที่ดีสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งชัดเจน

บทที่ 2 การพูด?

เรื่องการพูด วิชา พท31001 ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การพูด เป็นวิธีหนึ่งของการสื่อสาร การถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก หรือความต้องการ ด้วยเสียง ภาษา และกิริยาท่าทาง เพื่อให้ผู้รับฟังรับรู้ เข้าใจได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้พูด การสื่อสารจึงจะบรรลุผลได้หลักการพูด ความหมายของการพูด ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พูด คือ การเปล่งเสียงออกเป็นถ้อยคํา, พูดจา การพูด เป็นการสื่อสารด้วยภาษา จากตัวผู้พูดไปยังผู้ฟัง เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันช่วยให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย องค์ประกอบของการพูด การพูดมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ประการ ดังนี้ ผู้พูด ผู้พูดเป็นผู้ที่จะต้องถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง ตลอดจนทัศนคติของตนสู่ผู้ฟังโดยใช้ภาษา เสียง อากับกิริยาและบุคลิกภาพของตนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้พูดจะต้องคำนึงถึงมารยาทและคุณธรรม ในการพูดด้วย สิ่งสำคัญที่ผู้พูดจะต้องยึดไว้เป็นแนวปฏิบัติคือ ผู้พูดจะต้องรู้จักสะสมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วรวบรวม เรียบเรียงความรู้ ความคิดเหล่านี้ ให้มีระเบียบ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจได้โดยง่าย แจ่มแจ้ง การสะสมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ ผู้พูดสามารถทำได้หลายทาง เช่น จากการอ่าน การฟัง การสังเกต การกระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเอง การสนทนากับผู้อื่นนอกจากนี้แล้ว ผู้พูดจะต้องมีทักษะ ในการพูด การคิด การฟัง และมีความสนใจที่จะพัฒนาบุคลิกภาพอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พูด เกิดความมั่นใจในตนเอง สาระหรือเรื่องราวที่พูด คือ เนื้อหาสาระที่ผู้พูดพูดออกไป ซึ่งผู้พูดจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า สาระที่ตนพูดนั้นจะต้องมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง อีกทั้งควรเป็นเรื่องที่ใหม่ ทันสมัย เนื้อหาจะต้องมีความชัดเจน ผู้พูดต้องขยายความคือ ความรู้ที่นำเสนอสู่ผู้ฟังให้มีความกระจ่าง ซึ่งอาจขยายความด้วยการยกตัวอย่างแสดงด้วยตัวเลข สถิติ หรือยกหลักฐานต่าง ๆ มาอ้างอิง การเตรียมเนื้อหาในการพูดมีขั้นตอน ดังนี้ 2.1) การเลือกหัวข้อเรื่อง ถ้าผู้พูดมีโอกาสเลือกเรื่องที่จะพูดเอง ควรยึดหลักที่ว่าต้อง เหมาะสมกับผู้พูด คือ เป็นเรื่องที่ผู้พูดมีความรอบรู้ในเรื่องนั้น และเหมาะสมกับผู้ฟังเป็นเรื่องที่ผู้ฟังมีความสนใจ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงโอกาส สถานการณ์ สถานที่ และเวลา ที่กำหนดให้พูดด้วย 2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่องที่จะพูด ผู้พูดจะต้องกำหนด จุดมุ่งหมายในการพูดแต่ละครั้งให้ชัดเจนว่าต้องการให้ความรู้ โน้มน้าวใจหรือเพื่อความบันเทิงเพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย นอกจากนี้ผู้พูดจะต้องกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพูดด้วยว่าจะครอบคลุมเนื้อหาลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด 2.3) การค้นคว้าและรวบรวมความรู้ ผู้พูดต้องประมวลความรู้ ความคิดทั้งหมดไว้แล้วแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือความคิดหลัก อะไรคือความคิดรอง สิ่งใดที่จะนำมาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดนั้นๆ และที่สำคัญ ผู้พูดจะต้องบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่าข้อมูลที่ได้มานั้น มีที่มาจากแหล่งใด ใครเป็นผู้พูด หรือผู้เขียน ทั้งนี้ผู้พูดจะได้ อ้างอิง ที่มาของข้อมูลได้ถูกต้องในขณะที่พูด 2.4) การจัดระเบียบเรื่อง คือ การวางโครงเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้การพูดไม่วกวน สับสนเพราะผู้พูดได้จัดลำดับขั้นตอนการพูดไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความต่อเนื่อง ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดช่วยให้ผู้ฟังจับประเด็นได้ง่าย การจัดลำดับเนื้อเรื่องจะแบ่งเป็น สามตอน คือ คำนำ เนื้อเรื่องและการสรุป ผู้ฟัง ผู้พูดกับผู้ฟังมีความสัมพันธ์กัน โดยผู้พูดต้องเร้าความสนใจผู้ฟังด้วยการใช้ภาษา เสียง กิริยาท่าทางบุคลิกภาพของตน ในขณะเดียวกันผู้ฟังก็มีส่วนช่วยให้การพูดของผู้พูดบรรลุจุดหมายได้โดยการตั้งใจฟัง และคิดตามอย่างมีเหตุผล ก่อนจะพูดทุกครั้งผู้พูดต้องพยายาม ศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวกับผู้ฟังให้มากที่สุด เช่น จำนวนผู้ฟัง เพศ ระดับการศึกษา ความเชื่อและค่านิยม ความสนใจของผู้ฟัง เป็นต้น การวิเคราะห์ผู้ฟังล่วงหน้า นอกจากจะได้นำข้อมูล มาเตรียมการพูดให้เหมาะสมแล้ว ผู้พูดยังสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย จุดมุ่งหมายของการพูด โดยทั่วไปแล้ว การพูดจะมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ๆ อยู่ 3 ประการ 1. การพูดเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ การพูดเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ เราได้ฟังอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือจากวงสนทนาในชีวิตประจำวัน มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยมีประสบการณ์หรือมีความรู้ประสบการณ์บ้าง แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัด การพูดประเภทนี้ ได้แก่ การรายงาน การพูดแนะนำ การบรรยาย การอธิบายการชี้แจง ดังตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เช่น • ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งและประสบความสำเร็จ • ภัยแล้ง • ทำไมราคาพืชผลทางการเกษตรจึงตกต่ำ • งามอย่างไทย • สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ 2. การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพูดที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังเชื่อและมีความคิดคล้อยตาม ทำหรือไม่ทำตามที่ผู้พูดต้องการหรือมีเจตนา ฉะนั้น ผู้พูดจะต้องชี้แจง ให้ผู้ฟังเห็นว่า ถ้าไม่เชื่อหรือปฏิบัติตาม ที่ผู้พูดเสนอแล้วจะเกิดโทษ หรือ ผลเสียอย่างไร การพูดชนิดนี้จะประสบความสำเร็จได้ดีมากน้อยเพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้พูดเองว่ามีบุคลิกภาพดีไหม มีการใช้ถ้อยคำภาษาที่ง่ายแก่การเข้าใจของกลุ่มผู้ฟังไหม และที่สำคัญ คือผู้พูดจะต้องมีศิลปะและจิตวิทยาในการจูงใจ ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ จะเห็นตัวอย่างได้จากการพูดเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเพื่อเป็นหัวหน้าชั้น ผู้แทนกลุ่ม หรือองค์การต่างๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือการพูดเพื่อรณรงค์ให้ผู้ฟังเลิกบุหรี่ หรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การพูดเพื่อให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำมัน ไฟฟ้า นอกจากนี้การพูด เพื่อโน้มน้าวใจจะนำไปใช้มากในด้านธุรกิจการขาย การโฆษณาเพื่อให้ผู้คนหันมานิยมใช้หรือซื้อสินค้าตุน ตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดโน้มน้าวใจ • บริจาคโลหิตช่วยชีวิตมนุษย์ • มาเลี้ยงลูกด้วยนมมารดากันเถอะ • ฟังดนตรีเถอะชื่นใจ • ช่วยทำเมืองไทยให้เป็นสีเขียวดีกว่า • ออกกำลังกายวันละนิดชีวิตแจ่มใส • เหรียญบาทมีความหมายเพื่อเด็กยากไร้ในชนบท 3. การพูดเพื่อความบันเทิง การพูดเพื่อจุดมุ่งหมายนี้เป็นการพูดที่มุ่งให้ผู้ฟัง เกิดความเพลิดเพลิน รื่นเริง สนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด ในขณะเดียวกันก็แทรกเนื้อหาสาระ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วยผู้พูด จะต้องเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสไม่เป็นคนเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากรายการต่างๆ ทางสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์ ตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดเพื่อความบันเทิง • เราจะได้อะไรจากการฟังเพลงลูกทุ่ง • ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ • พูดใครคิดว่าไม่สำคัญ • ที่ว่ารัก รักนั้นเป็นฉันใด หลักการพูดที่ดี ผู้พูดที่ต้องการสื่อความเข้าใจกับผู้ฟังให้เกิดความสำเร็จในการส่งสารได้ดีนั้นต้องคำนึงถึงหลักการพูด ดังต่อไปนี้ การออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักภาษา ได้แก่ 1.1 การออกเสียงสั้น – ยาว ต่างกัน ความหมายก็ต่างกันไปด้วย เช่น เก้า – ก้าว , เข้า – ข้าว , เท้า – ท้าว ตัวอย่าง ก้าวเท้าไปเก้าครั้ง เขาเดินเข้าไปรับประทานข้าว เขาบาดเจ็บที่เท้า 1.2 การออกเสียงคำหลายพยางค์ให้ถูกต้องตามหลักการออกเสียง คำบางคำออกเสียงแบบอักษรนำ เช่น ดำริ อ่านว่า ดำ – หริ กนก อ่านว่า กะ – หนก ดำรัส อ่านว่า ดำ – หรัด ปรอท อ่านว่า ปะ – หรอด ผลิต อ่านว่า ผะ – หลิด บางคำไม่ใช่ คำสมาส แต่อ่านออกเสียงต่อเนื่องแบบคำสมาส เช่น ผลไม้ อ่านว่า ผน – ละ – ไม้ พลเมือง อ่านว่า พน – ละ – เมือง เทพเจ้า อ่านว่า เทบ – พะ – เจ้า ดาษดา อ่านว่า ดาด – สะ – ดา คำบางคำไม่นิยมออกเสียงให้มีเสียงต่อเนื่อง เช่น ทิวทัศน์ อ่านว่า ทิว – ทัด สัปดาห์ อ่านว่า สับ – ดา ดาษดื่น อ่านว่า ดาด – ดื่น วิตถาร อ่านว่า วิด – ถาน รสนิยม อ่านว่า รด – นิ – ยม คุณค่า อ่านว่า คุน – ค่า 1.3 ออกเสียงให้ถูกต้องตามความนิยม เช่น กำเนิด อ่านว่า กำ – เหนิด ยมบาล อ่านว่า ยม – มะ – บาน ชักเย่อ อ่านว่า ชัก – กะ – เย่อ เทศบาล อ่านว่า เทด – สะ – บาน 1.4 ออกเสียงคำควบกล้ำ ร, ล, ว หรือเป็นอักษรนำให้ชัดเจนถูกต้อง เช่น ตราด อ่านว่า ตราดเป็น อักษรควบ ตลาด อ่านว่า ตะ – หลาดเป็น อักษรนำ จริง อ่านว่า จิงเป็น อักษรควบไม่แท้ ปรักหักพัง อ่านว่า ปะ – หรัก – หัก – พังเป็นอักษรนำ คำต่อไปนี้ออกเสียงแบบควบแท้ทั้งหมด เช่น ปรับปรุง เปลี่ยนปลง ปลาบปลื้ม ปลอดโปร่ง พร้อมเพรียง เพราะพริ้ง แพรวพราว เพลิดเพลิน พลุกพล่าน แกว่งไกว กว้างขวาง ไขว่คว้า คลุกเคล้า คลาดเคลื่อน คลอนแคลน คำบางคำเป็นคำเรียงพยางค์กันไม่ออกเสียงแบบควบกล้ำ เช่น ปริญญา ออกเสียงว่า ปะ – ริน – ยา ปราชัย ออกเสียงว่า ปะ – รา – ไช ปรัมปรา ออกเสียงว่า ปะ – รำ – ปะ – รา ปรินิพพาน ออกเสียงว่า ปะ – ริ – นิบ – พาน 1.5 ไม่ควรออกเสียงให้ห้วนสั้น ตัดคำ หรือรัวลิ้นจนฟังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะ คำหลายพยางค์ เช่น มหาวิทยาลัย ไม่ควรออกเสียงว่า หมา – ลัย วิทยาลัย ไม่ควรออกเสียงว่า วิด – ลัย ประกาศนียบัตร ไม่ควรออกเสียงว่า ปะ – กาด – บัด กิโลเมตร ไม่ควรออกเสียงว่า กิโล หรือ โล กิโลกรัม ไม่ควรออกเสียงว่า กิโล หรือ โล สวัสดี ไม่ควรออกเสียงว่า หวัด – ดี ประธานาธิบดี ไม่ควรออกเสียงว่า ปะ – ธา – นา – ดี เฉลิมพระชนมพรรษา ไม่ควรออกเสียงว่า ฉะ – เหลิม – ชน – สา 1.6 ไม่ควรใช้ภาษาพูด ภาษาตลาด ภาษาสื่อมวลชนหรือภาษาโฆษณา ในการพูดกับคนทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจยากและไม่เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เช่น • สาวคนนั้นจัดอยู่ในวัยเอ๊าะ ๆ • รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในวัยดึก • นายตำรวจถูกเตะโด่งออกจากพื้นที่ • เขาวิ่งเต้นเพื่อขอย้ายไปในที่เจริญ • นายตำรวจเต้น ถูก นสพ. คุ้ยเบื้องหลัง • เจ้าหน้าที่บุกคุกลำปางหาข้อมูลปรับปรุงเรือนจำ 1.7 การออกเสียงคำแผลง ควรออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักภาษาและความนิยม เช่น บำราศ ออกเสียงว่า บำ – ราด บำราบ ออกเสียงว่า บำ – หราบ ตำรวจ ออกเสียงว่า ตำ – หรวด ผนวช ออกเสียงว่า ผะ – หนวด สำเร็จ ออกเสียงว่า สำ – เหร็ด จำหน่าย ออกเสียงว่า จำ – หน่าย แสดง ออกเสียงว่า สะ – แดง ถลก ออกเสียงว่า ถะ – หลก จรวด ออกเสียงว่า จะ – หรวด หลักการพูดที่ดีต้องคำนึงถึง 1. การใช้ภาษา ต้องเลือกใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้ฟัง 2. ผู้พูดและผู้ฟังมีจุดมุ่งหมายตรงกัน ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสื่อความหมายไปยังผู้ฟังเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ผู้ฟังก็มีความตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดสื่อความหมายให้ 3. ออกเสียงพูดให้ชัดเจน ดังพอประมาณ อย่าตะโกนหรือพูดค่อยเกินไป 4. สีหน้า ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด 5. ท่าทางในการยืน นั่ง ควรสง่าผ่าเผย การใช้ท่าทางประกอบการพูดก็มีความสำคัญ เช่น การใช้มือ นิ้ว จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายยิ่งขึ้น 6. ต้องรักษามารยาทการพูดให้เคร่งครัดในเรื่องเวลาในการพูด พูดตรงเวลาและจบทันเวลา 7. พูดเรื่องใกล้ตัวให้ทุกคนรู้เรื่อง เป็นเรื่องสนุกสนานแต่มีสาระ และพูดด้วยท่าทางและกิริยานุ่มนวล เวลาพูดต้องสบตาผู้ฟังด้วย 8. ไม่ควรพูดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง โดยไม่จำเป็น และไม่ควรพูดแต่เรื่องของตัวเอง 9. ไม่พูดคำหยาบ นินทาผู้อื่น ไม่พูดแซงขณะผู้อื่นพูดอยู่ และไม่ชี้หน้าคู่สนทนา มารยาทในการพูด การพูดที่ดีไม่ว่าจะเป็นการพูดในโอกาสใด หรือประเภทใด ผู้พูดต้องคำนึงถึงมารยาทในการพูด ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้ผู้พูดได้รับการชื่นชมจากผู้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูด มารยาทที่สำคัญของการพูดสรุป ได้ดังนี้ 1. พูดด้วยวาจาสุภาพ แสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส 2. ไม่พูดอวดตนข่มผู้อื่น และยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นเป็นสำคัญ 3. ไม่กล่าววาจาเสียดแทง ก้าวร้าวหรือพูดขัดคอบุคคลอื่น ควรใช้วิธีที่สุภาพเมื่อต้องการแสดงความคิดเห็น 4. รักษาอารมณ์ในขณะพูดให้เป็นปกติ 5. ไม่นำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาพูด 6. หากนำคำกล่าวของบุคคลอื่นมากล่าว ต้องระบุนามหรือแหล่งที่มาเป็นการให้เกียรติบุคคลที่กล่าวถึง 7. หากพูดในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ ควรกล่าวคำขอโทษ 8. ไม่พูดคุยกันข้ามศีรษะผู้อื่น

บทที่ 3 การอ่าน?

การอ่าน คือ การรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์หรือในหนังสือ เป็นการรับรู้ว่าผู้เขียนคิดอะไรและพูดอะไร โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจถ้อยคำแต่ละคำเข้าใจวลี เข้าใจประโยค ซึ่งรวมอยู่ในย่อหน้า เข้าใจแต่ละย่อหน้า ซึ่งรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน การอ่านเป็นการบริโภคคำที่ถูกเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือหรือสัญลักษณ์การอ่านโดยหลักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการที่แสงตกกระทบที่สื่อและสะท้อนจากตัวหนังสือผ่านทางเลนส์นัยน์ตาและประสาทตาเข้าสู่เซลล์สมองไปเป็นความคิด (Idea) ความรับรู้ (Perception) และก่อให้เกิดความจำ (Memory) ทั้งความจำระยะสั้นและความจำระยะยาว กระบวนการอ่าน มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก การอ่านออก อ่านได้ หรืออ่านออกเสียงได้ถูกต้อง ขั้นที่สอง การอ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของคำ วลี ประโยค สรุปความได้ ขั้นที่สาม การอ่านแล้วรู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และออกความเห็นในทางที่ขัดแย้งหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนอย่างมีเหตุผล ขั้นสุดท้ายคือการอ่านเพื่อนำไปใช้ ประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ที่อ่านได้และอ่านเป็นจะต้องใช้กระบวนการทั้งหมดในการอ่านที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการถ่ายทอดความหมายจากตัวอักษรออกมาเป็นความคิด และจากการคิดที่ได้จากการอ่านผสมผสานกับประสบการณ์เดิม และสามารถความคิดนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป คุณค่าของการอ่าน วัตถุประสงค์ในการอ่านของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป เช่น อ่านเพื่อความรู้ อ่านเพื่อให้เกิดความคิด อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อความจรรโลงใจ เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านจำเป็นต้องทราบจุดมุ่งหมายของการอ่านนั้นๆ ไว้ก่อนการอ่านทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการช่วยให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน การอ่านมีความจำเป็นต่อการศึกษาเล่าเรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ คนที่เรียนหนังสือเก่งมักจะเป็นคนที่อ่านหนังสือเก่ง เพราะการอ่านช่วยให้ได้รับความรู้และความเข้าใจที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และสามารถศึกษาต่อในระดับสูงได้ การอ่านมีคุณค่าต่อมนุษย์ เนื่องจากเป็นการสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ ยกระดับสติปัญญาให้สูงขึ้น ทำให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความคิดให้ก้าวหน้า ส่งผลต่อการพัฒนาในอาชีพ ทำให้มนุษย์ทันต่อเหตุการณ์ ได้รับความรู้เพิ่ม ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยพัฒนาจิตใจให้งอกงาม ช่วยขจัดความทุกข์ ความเศร้าหมอง การอ่านทำให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้รับความเพลิดเพลินและพักผ่อนหย่อนใจ การเตรียมพร้อมเพื่อการอ่าน การอ่านจะดำเนินไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและองค์ประกอบที่อยู่ ภายในร่างกาย การอ่านท่ามกลางบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งประสิทธิและประสิทธิผลในการอ่าน ทั้งนี้ควรคำนึงถึง 1. การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม สถานที่ที่เหมาะกับการอ่านควรมีความเงียบสงบ ตัดสิ่งต่างๆ ที่รบกวนสมาธิออกไป มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม มีโต๊ะที่มีความสูงพอเหมาะและเก้าอี้ที่นั่งสบายไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป 2. การจัดท่าของการอ่าน ตำแหน่งของหนังสือควรอยู่ห่างประมาณ 35-45 เซนติเมตร และหน้า หนังสือจะต้องตรงอยู่กลางสายตา ควรนั่งให้หลังตรงไม่ควรนอนอ่าน ทั้งนี้เพื่อให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการรับรู้ จดจำ และอ่านได้นาน 3. การจัดอุปกรณ์ช่วยในการอ่าน การอ่านอาจมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กระดาษสำหรับบันทึกดินสอ ปากกา ดินสอสี 4. การจัดเวลาที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาที่ต้องมีการทบทวนบทเรียนควรอ่านหนังสือในช่วงที่เหมาะสมคือช่วงที่ที่ไม่ดึกมาก คือ ตั้งแต่ 20.00 - 23.00 น. เนื่องจากร่างกายยังไม่อ่อนล้าเกินไปนัก หรืออ่านในตอนเช้า 5.00-6.30 น. หลังจากที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ในการอ่านแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 50 นาทีและให้เปลี่ยนแปลงอิริยาบถสัก 10 นาทีก่อนลงมืออ่านต่อไป 5. การเตรียมตนเอง ได้แก่ การทำจิตใจให้แจ่มใส มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และมีสมาธิในการอ่าน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีสุขภาพสายตาที่ดี ตัดปัญหารบกวนจิตใจให้หมด การแบ่งเวลาให้ถูกต้อง และมีระเบียบวินัยในชีวิตโดยให้เวลาแต่ละวันฝึกอ่านหนังสือ และพยายามฝึกทักษะใหม่ๆ ในการอ่าน เช่น ทักษะการอ่านเร็วอย่างเข้าใจ เป็นต้น การเลือกสรรวัสดุการอ่าน การเลือกสรรวัสดุการอ่าน ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการอ่าน เช่น การอ่านเพื่อการศึกษา การอ่านเพื่อหาข้อมูลประกอบการทำงาน การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อฆ่าเวลา การรู้จักเลือกวัสดุการอ่านที่มีประโยชน์จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ตามเป้าหมาย การเลือกสรรวัสดุการอ่านมีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้ทรัพยากรสารนิเทศในห้องสมุด เช่น 1. การอ่านเพื่อความรู้ เช่น ตำราวิชาการ 2. การอ่านเพื่อความบันเทิงใจ 3. การอ่านเพื่อเป็นกำลังใจ เสริมสร้างปัญญา เช่น หนังสือจิตวิทยา หนังสือธรรมะ 4. การอ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อเลือกวัสดุการอ่านหรือหนังสือได้แล้ว ก็จะต้องกำหนดว่าต้องการอะไรข้อมูลในลักษณะใดจากหนังสือเล่มนั้น ขอบเขตของข้อมูลในลักษณะกว้างหรือแคบแต่ลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อกำหนดรูปแบบการอ่านเพื่อความต้องการต่อไป การกำหนดจุดมุ่งหมายการอ่าน การรู้ความมุ่งหมายในการอ่านเปรียบเหมือนการรู้จุดหมายปลายทางของการเดินทาง ทำให้สามารถเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ และเดินทางไปสู่ที่หมายได้ นักอ่านที่ดีควรมีจุดมุ่งหมายว่าต้องการอ่านเพื่ออะไร เพื่อจะได้กำหนดวิธีอ่านได้เหมาะสม การอ่านเพื่อการศึกษาค้นคว้าและทำรายงาน มีจุดมุ่งหมายดังนี้ 1. อ่านเพื่อความรู้พื้นฐาน เป็นการอ่านเพื่อรู้เรื่องโดยสังเขป หรือเพื่อลักษณะของหนังสือ เช่น การอ่านเพื่อ รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่จะใช้ในการค้นคว้าและเขียนรายงาน 2. อ่านเพื่อรวบรวมข้อมูล เป็นการอ่านให้เข้าในเนื้อหาสาระ และจัดลำดับความคิดได้ เพื่อสามารถรวบรวม และบันทึกข้อมูลสำหรับเขียนรายงาน 3. อ่านเพื่อหาแนวคิด หมายถึง การอ่านเพื่อรู้ว่าสิ่งที่อ่านนั้นมีแนวคิดหรือสาระสำคัญอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ในลักษณะใด เช่น การอ่านบทความ และสารคดีเพื่อหาหัวข้อสำหรับเขียนโครงร่างรายงาน 4. อ่านเพื่อวิเคราะห์หรือวิจารณ์ คือการอ่านเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งพอที่จะนำความรู้ไปใช้ หรือแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ เรื่องที่อ่านได้ เช่น การอ่านบทความที่แสดงความคิดเห็น การอ่านตารางและรายงาน วิธีการอ่านที่เหมาะสม การอ่านมีหลายระดับและมีวิธีการต่างๆ ตามความมุ่งหมายของผู้อ่าน และประเภทของสื่อการอ่าน การอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเขียนรายงาน อาจใช้วิธีอ่านต่าง ๆ เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การอ่านผ่าน การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุปความ และการอ่านวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ การอ่านสำรวจ คือ การอ่านข้อเขียนอย่างรวดเร็ว เพื่อรู้ลักษณะโครงสร้างของข้อเขียน สำนวนภาษา เนื้อเรื่องโดยสังเขป เป็นวิธีอ่านที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกสรรสิ่งพิมพ์ สำหรับใช้ประกอบการค้นคว้า หรือการหาแนวเรื่องสำหรับเขียนรายงาน และรวบรวมบรรณานุกรมในหัวข้อที่เขียนรายงาน การอ่านข้าม เป็นวิธีอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจเนื้อหาของข้อเขียน โดยเลือกอ่านข้อความบางตอน เช่น การอ่านคำนำ สาระสังเขป บทสรุป และการอ่านเนื้อหาเฉพาะตอนที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น การอ่านผ่าน เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา (Scanning Reading) โดยผู้อ่านจะทำการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายในข้อเขียน เช่น คำสำคัญ ตัวอักษร หรือ สัญลักษณ์ แล้วอ่านรายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่ การอ่านจับประเด็น หมายถึง การอ่านเรื่องหรือข้อเขียนโดยทำความเข้าใจสาระสำคัญในขณะที่อ่าน มักใช้ในการอ่านข้อเขียนที่ไม่ยาวนัก เช่น บทความ การอ่านเร็วๆ หลายครั้งจะช่วยให้จับประเด็นได้ โดยการอ่านมีเทคนิคคือ ต้องสังเกตคำสำคัญ ประโยคสำคัญที่มีคำสำคัญ และทำการย่อสรุปบันทึกประโยคสำคัญไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป การอ่านสรุปความ หมายถึง การอ่านโดยสามารถตีความหมายสิ่งที่อ่านได้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจเรื่องอย่างดี สามารถแยกส่วนที่สำคัญหรือไม่สำคัญออกจากกัน รู้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น ส่วนใดเป็นความคิดหลัก ความคิดรอง การอ่านสรุป ความมีสองลักษณะคือ การสรุปแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละตอน และสรุปจากทั้งเรื่อง หรือทั้งบท การอ่านสรุปความควรอย่างอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งพอให้รู้เรื่อง แล้วอ่านละเอียดอีกครั้งเพื่อเข้าใจเรื่องอย่างดี หลักจากนั้นตั้งคำถามตนเองในเรื่องที่อ่านว่าเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องราวอย่างไร แล้วเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสำนวนภาษาของผู้สรุป การอ่านวิเคราะห์ การอ่านเพื่อค้นคว้าและเขียนรายงานโดยทั่วไปต้องมีการวิเคราะห์ความหมายของข้อความ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนอาจใช้คำและสำนวนภาษาในลักษณะต่าง ๆ อาจเป็นภาษาโดยตรงมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ภาษาโดยนัยที่ต้องทำความเข้าใจ และภาษาที่มีความหมายตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องคำศัพท์และสำนวนภาษาดี มีประสบการณ์ ในการ อ่านมากและมีสมาธิในการอ่านดี ย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ตรงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ และสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดี

บทที่ 4 การเขียน?

สาระสําคัญ การศึกษาหลักเกณฑ์การเขียนให้เข้าใจ ปฏิบัติตามหลักและวิธีการเขียน กระบวน การเขียนเพื่อ การสื่อสาร เขียนคําข้อความให้ถูกต้อง เลือกใช้คําได้เหมาะสม สื่อความหมายได้ชัดเจน จะช่วยให้การสื่อสารด้วยการเขียนมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนมีมารยาทและรักการเขียน ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ผู้เรียนจะสามารถ 1. เขียนจดหมายเขียนเรียงความ เขียนย่อความ เขียนบันทึก เขียนรายงาน เขียนประกาศ เขียนใบสมัครงาน เขียนสารคดีบันเทิงคดีเขียนคําอวยพร เขียนโครงการ เขียนคํากล่าว รายงาน 2. แต่งคําประพันธ์ ประเภท กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่ายได้ 3. มารยาทและสร้างนิสัยรักการเขียน ขอบข่ายเนื้อหา เรื่องที่ 1 หลักการเขียน เรื่องที่ 2 หลักการแต่งคําประพันธ์ เรื่องที่3 มารยาทและนิสัยรักการเขียน

บทที่ 5 หลักการใช้ภาษา?

เรื่องหลักภาษาไทย วิชา พท 31001 ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อักขระวิธี ได้แก่ อักษร แปลว่า ตัวหนังสือ ลักษณะอักษร เสียงในภาษาไทย มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1. เสียงแท้ ได้แก่ สระ 2. เสียงแปร ได้แก่ พยัญชนะ 3. เสียงดนตรี ได้แก่ วรรณยุกต์ สระ สระในภาษาไทย ประกอบด้วยรูปสระ 21 รูป และเสียงสระ 32 เสียง พยัญชนะ รูปพยัญชนะ มี 44 ตัว คือ 1. อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข ข ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห 2. อักษรกลาง มี 9 ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ 3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ 3.1 อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่เป็นคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว คือ ค ค ฆ ช ฌ ซ ฑ ฒ ท ธ พ ภ ฟ ฮ 3.2 อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูงเป็นคู่กัน มี 10 ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ วรรณยุกต์ วรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่ 1. ไม้เอก 2. ไม้โท 3. ไม้ตรี 4. ไม้จัตวา เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง 1. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน 2. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด 3. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง 4. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด 5. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว คำเป็นคำตาย คำเป็น คือ คือเสียงที่ประสมทีฆสระ (สระเสียงยาว) ในแม่ ก กา เช่น กา กี กื กู คำตาย คือ คือเสียงที่ประสมรัสสระ (สระเสียงสั้น) ในแม่ ก กา เช่น กะ กิ กุ คำสนธิ คือ การต่อคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปให้ติดเนื่องกัน โดยมีการเพิ่มสระในแทรกระหว่างคำ หรือเพิ่มคำเพื่อติดต่อกันให้สนิท เช่น ปิตุ + อิศ เป็น ปิตุเรศ ธนู + อาคม เป็น ธันวาคม มหา + อิสี เป็น มเหสี คำสมาส คือ การนำคำประสมตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปให้เป็นคำเดียวคำที่ใช้นำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่อรวมกันแล้วความหมายเปลี่ยนไปก็มี, ความหมายคงเดิมก็มี เช่น ราช + โอรส เป็น ราชโอรส สุธา + รส เป็น สุธารส คช + สาร เป็น คชสาร คำเป็น คือ พยางค์ที่ประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา และพยางค์ที่มีตันสะกดใน แม่ กน กง กม เกย และสระ อำ ไอ ใอ เอา คำตาย คือ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา กก กด กบ แต่ยกเว้นสระ อำ ไอ ใอ เอา อักษรควบ คือพยัญชนะ 2 ตัว ควบกล้ำอยู่ในสระตัวเดียวกัน เช่น เพลา เขมา อักษรควบแท้ คือคำที่ควบกับ ร ล ว เช่น ควาย ไล่ ขวิด ข้าง ขวา คว้า ขวาน มา ไล่ ขว้าง ควาย ไป ควาย ขวาง วิ่ง วน ขวักไขว่ กวัดแกว่ง ขวาน ไล่ ล้ม คว่ำ ขวาง ควาย. อักษรควบไม่แท้ คือ อักษร 2 ตัวที่ควบกล้ำกันได้แก่ตัว ร แต่ออกเสียงเฉพาะตัวหน้าแต่ไม่ออกเสียง ร หรือบางตัวออกเสียงเปลี่ยนไปเป็นพยัญชนะอื่น เช่น เศร้า ทราย จริง ไซร้ ปราศรัย สร้อย เสร็จ เสริม ทรง สร้าง สระ อักษรนำ คือ พยัญชนะ 2 ตัวรวมอยู่ในสระเดียวกัน บางคำออกเสียงร่วมกันเช่น หนู หนอ หมอ หมี อย่า อยู่ อย่าง อยาก หรือบางคำออกเสียงเหมือน 2 พยางค์ เนื่องจากต้องออกเสียงพยัญชนะตัวหน้ารวมกับตัวหลัง แต่พยัญชนะ 2 ตัว นั้นประสมกันไม่สนิทจึงฟังดูคล้ายกับมีเสียงสระอะดังออกมาแผ่ว ๆ เช่น กนก ขนม จรัส ไสว ฉมวก แถลง ฝรั่ง ผนวก คำมูล คือ คำที่เราตั้งขึ้นเฉพาะคำเดียว เช่น ชน ตัก คน วัด หัด ขึ้น ขัด คำประสม คือ การนำคำมูลมาประสมกันเป็นอีกคำหนึ่ง เช่น แม่ + น้ำ = แม่น้ำ แปลว่า ทางน้ำไหล หาง + เสือ = หางเสือ แปลว่า ที่บังคับเรือ ลูก + น้ำ = ลูกน้ำ พยางค์ คือ ส่วนหนึ่งของคำหรือหน่วยเสียงประกอบด้วยสระตัวเดียวจะมีความหมายหรือไม่มีก็ได้ พยางค์หนึ่งมีส่วนประสมต่าง ๆ คือ 1. พยัญชนะ + สระ + วรรณยุกต์ เช่น ตา ดี ไป นา 2. พยัญชนะ + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด เช่น คน กิน ข้าว หรือพยัญชนะ + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวการันต์ เช่น โลห์ เล่ห์ 3. พยัญชนะ + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด + ตัวการันต์ เช่น รักษ์ สิทธิ์ โรจน์ พยางค์แบบนี้เรียกว่า ประสม 5 ส่วน วลี คือ กลุ่มคำที่เรียงติดต่อกันอย่างมีระเบียบ และมีความหมายเป็นที่รู้กัน เช่น การเรียนหลักภาษาไทยมีประโยชน์มาก ประโยค คือ กลุ่มคำที่นำมาเรียงเข้าด้วยกันแล้วมีใจความสมบูรณ์ เช่น 1. ประโยค 2 ส่วน ประธาน + กริยา นก บิน 2. ประโยค 3 ส่วน ประธาน + กริยา + กรรม ปลา กิน มด คำไทยแท้ คำไทยแท้ส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว มีใช้ครบทั้ง ๗ ชนิด สำหรับคำไทยที่มีหลายพยางค์อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังนี้ 1.1 การกร่อนเสียง สันนิษฐานว่า คำ 2 พยางค์บางคำแต่เดิมมาจากคำพยางค์เดียว 2 คำเรียงกัน เมื่อพูดเร็วๆ เสียงแรกจึงกร่อนลง มะปราง มาจาก หมากปราง ตะขาบ มาจาก ตัวขาบ สะใภ้ มาจาก สาวใภ้ 1.2 การแทรกเสียง สันนิษฐานว่า เดิมมีคำพยางค์เดียวเรียงกัน 2 คำ ต่อมาแทรกเสียง “อะ” ตรงกลาง กลมกลืนกับเสียงตัวสะกดของคำหน้า คำที่แทรกมาใหม่กลายเป็นพยางค์หน้าของคำหลัง เช่น ลูกกระเดือก มาจาก ลูกเดือก นกกระจอก มาจาก นกจอก 1.3 การเติมพยางค์หน้าคำมูล คำเหล่านี้มักมีความหมายใกล้เคียงกัน ทั้งคำที่เติมและคำที่ยังไม่ได้เติม เช่น ดุกดิก เป็น กระดุกกระดิก ท้วง เป็น ประท้วง คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์ทั้งคำในมาตราตัวสะกดและแม่ ก กา คำไทยแท้ไม่ค่อยใช้พยัญชนะต่อไปนี้ ฆ ณ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ ยกเว้นบางคำ เช่น ฆ่า เฆี่ยน ระฆัง ศอก ศึก ธ เธอ ณ ฯพณฯ ใหญ่ หญ้า ฯลฯ คำไทยแท้มีการใช้วรรณยุกต์ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป คำไทยแท้ที่ออกเสียงไอ จะประสมด้วยสระ “ใอ” มีทั้งหมด ๒๐ คำ นอกนั้นประสมด้วยสระ “ไอ” แต่จะไม่ใช้ “อัย” หรือ “ไอย” ตัวอย่างคำไทยแท้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา น้อง หลาน ลุง เหลน หัว หู ตา คิ้ว ปาก ฟัน แขน ขา นิ้ว บ้าน ครัว หมอน มุ้ง เสื่อ ฟ้า หม้อ ไห ถ้วย ชาม ไถ คราด จอบ เสียม เบ็ด แห อวน เรือ แพ ดิน น้ำ ลม ไฟ ฟ้า ดาว ป่า เขา นั่ง นอน เดิน เห็น ถาม พูด อยู่ ตาย ฉัน ท่าน เธอ แก เขา มัน หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ดี เลว เล็ก ใหญ่ หวาน เปรี้ยว หอม หนัก ฯลฯ ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต มีข้อสังเกตดังนี้ มักเป็นคำหลายพยางค์ ตัวสะกดมักไม่ตรงตามมาตราตัวสะกดอย่างคำไทยแท้ มักมีตัวการันต์ คำที่มีอักษรควบเป็นตัวสะกด เช่น จิตร อัคร ฯลฯ มีบางคำใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราอย่างคำไทยแท้ เช่น มน(ใจ) คำที่ประสมด้วยอักษร ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ คำที่มีรูปวรรรณยุกต์ และมีไม้ไต่คู้กำกับ มักเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น ไม่ใช่ภาษาบาลีสันสกฤต ยกเว้น มีการเติมลงในภายหลัง เช่น เล่ห์ พ่าห์ เสน่ห์ ฯลฯ ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต นิยมใช้ ฤ ฤา ฦ ฦา บิดา มารดา ศีรษะ เคหะ ปักษิน ปักษิณี ราชา ราชินี ยักษ์ เกษม เกษตร ตฤณ ทฤษฎี เทวษ ประพฤติ อัศวะสัตย์ พิสมัย ทุกข์ เลข ยุค เมฆ รัฐ ครุฑ วุฒิ บาท พุทธ เกศ รส บุญ การุณย์ ยนต์ เคารพ ลาภ จันทร์ จันทน์ วงศ์ ฯลฯ ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาเขมร มีหลักการสังเกตดังนี้ 1. ไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ ยกเว้นบางคำ เช่น เสน่ง เขม่า ฯลฯ 2. นิยมใช้ตัวควบกล้ำ ร ล ว และอักษรนำ 3. คำสองพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วย กำ คำ จำ ชำ ดำ ตำ ทำ มักมาจากภาษาเขมร 4. คำที่ขึ้นต้นด้วย บัง บัน บำ บรร มักมาจากภาษาเขมร 5. คำเขมรใช้พยัญชนะตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด แม่กด ใช้ จ ส สะกด แม่ กน ใช้ ร ญ ล สะกด ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาเขมร บำบัด กำแพง กระบือ กำจัด ตำรวจ รัญจวน ควาญ เขมา บำเพ็ญ บำนาญ บังอาจ บังเกิด บังคม เสวย ถกล ขจร เจริญ ฉบับ สะพาน ขจัด เสด็จ เสวย เถลิง ไผท จรัส โฉนด ฉลอง ถวาย เผด็จ เพนียด เสบียง ขลัง ตรัส ชำนาญ บังอร ตำบล ไถง พนม เพยีย ผจง ผกา ฯลฯ

บทที่ 6 ภาษาไทยกับช่องทางการประกอบอาชีพ?

สาระสําคัญ ภาษาไทยเป็นภาษาประจําชาติ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจําวัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ สามารถนําความรู้ภาษาไทยไปใช้ในการประกอบอาชีพต่างๆ ได้ โดยใช้ศิลปะทางภาษาเป็นสื่อนํา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เมื่อศึกษาจบบท แล้วคาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถ 1. มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ศักยภาพตนเอง ถึงความถนัดในการใช้ภาษาไทยด้าน ต่างๆ ได้ 2. เห็นช่องทางในการนําความรู้ภาษาไทยไปใช้ในการประกอบอาชีพ 3. เห็นคุณค่าของการใช้ภาษาไทยในการประกอบอาชีพ ขอบข่ายเนื้อหา เรื่องที่ 1 คุณค่าของภาษาไทย เรื่องที่ 2 ภาษาไทยกับช่องทางการประกอบอาชีพ เรื่องที่ 3 การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางด้านภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ

แบบทดสอบหลังเรียน

เกี่ยวกับผู้สอน

4.42 (24 การให้คะแนน)

83 รายวิชา

431 ผู้เรียน

เรียน
thThai